ผู้เขียน หัวข้อ: โรคปอดอักเสบในผู้สูงอายุ  (อ่าน 37 ครั้ง)

siritidaphon

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 554
    • ดูรายละเอียด
โรคปอดอักเสบในผู้สูงอายุ
« เมื่อ: วันที่ 22 กันยายน 2024, 17:00:44 น. »
โรคปอดอักเสบในผู้สูงอายุ

ปอดอักเสบเกิดจากอะไร

โรคปอดอักเสบ หรือที่เรียกว่า “ปอดบวม” คือ โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่าง ซึ่งอาจเกิดได้จากเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส และเชื้อรา โดยส่วนใหญ่จะเกิดจากเชื้อแบคทีเรียและไวรัส ซึ่งสาเหตุของโรคจะมีความแตกต่างกันในแต่ละกลุ่มอายุและสภาพแวดล้อม โดยร่างกายจะได้รับเชื้อผ่านทางระบบทางเดินหายใจ โดยทั่วไปแล้วโรคปอดอักเสบมักเป็นอาการที่ต่อเนื่องมาจากโรคไข้หวัดใหญ่ที่จะพบมากในช่วงฤดูฝน โดยระดับความรุนแรงของโรคจะมีความแตกต่างกันออกไป


ปอดอักเสบในผู้สูงอายุรุนแรงถึงชีวิตจริงหรือไม่

ในผู้สูงอายุที่มีภูมิต้านทานต่ำ โอกาสเสี่ยงที่จะเกิดโรคแทรกซ้อนจากปอดอักเสบสูงมาก เช่น การติดเชื้อในกระแสเลือดหรือระบบทางเดินหายใจล้มเหลว ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้สูงอายุที่เป็นโรคนี้เสียชีวิตสูงถึง 50% เป็นเหตุผลว่าโรคปอดอักเสบในผู้สูงอายุน่ากลัวกว่าปอดอักเสบในคนทั่วไป ซึ่งอาการแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นกับระบบต่างๆ ในร่างกาย ทำให้การรักษาเป็นไปอย่างยากลำบาก


อาการของโรคเป็นอย่างไร

ปอดอักเสบมีระยะเวลาดำเนินโรคที่ไม่แน่ชัดขึ้นกับชนิดของเชื้อ อาจสั้นเพียง 1 – 3 วันหรือนานเป็นสัปดาห์ หลังจากเริ่มป่วยเป็นไข้หวัด ถ้าผู้ป่วยเริ่มมีอาการไอ มีเสมหะ หายใจเหนื่อยหอบ เจ็บแน่นหน้าอก คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย และมีไข้สูง เป็นอาการที่แสดงให้เห็นว่าไม่ได้เป็นแค่ไข้หวัดธรรมดา แต่อาจมีโรคปอดอักเสบร่วมด้วย โดยอาการของโรคปอดอักเสบในผู้สูงอายุอาจมีอาการอื่นที่ไม่จำเพาะ ที่พบได้บ่อย คือ มีอาการซึมลงหรือสับสน และไม่จำเป็นต้องมีไข้หรืออาการไอมาก่อน


รู้ได้อย่างไรว่าปอดอักเสบ

แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและการตรวจร่างกาย และทำการตรวจวินิจฉัยด้วยการตรวจ X- Ray ปอดและตรวจเลือด รวมถึงนำเสมหะของคนไข้ไปตรวจเพาะเชื้อเพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรคและตรวจแยกเชื้อที่เป็นสาเหตุ ซึ่งผลตรวจที่ได้จะนำไปสู่แนวทางการรักษาที่ถูกต้อง


รักษาโรคปอดอักเสบได้อย่างไร

โรคปอดอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียรักษาได้โดยให้ยาฆ่าเชื้อในรูปแบบยากินและยาฉีด โดยแพทย์จะพิจารณาจากระดับความรุนแรงของโรค โดยทั่วไปหลังจากได้รับยาฆ่าเชื้อ อาการจะดีขึ้นภายใน 2 – 3 วัน ส่วนโรคปอดอักเสบที่เกิดจากเชื้อไวรัสมีความรุนแรงน้อยกว่าการติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งการรักษาจะพิจารณาตามอาการ เน้นให้คนไข้ดูแลตัวเอง พักผ่อนให้เพียงพอ อย่างไรก็ตามในกรณีของผู้สูงอายุที่ป่วยมีโรคเรื้อรังควรได้รับการรักษาในโรงพยาบาลเพื่อดูแลอาการอย่างใกล้ชิด ป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อนตามมา


ปอดอักเสบป้องกันได้หรือไม่

เชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของปอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียส่วนใหญ่ คือ เชื้อ Streptococcus Pneumoniae ซึ่งมีกว่า 90 สายพันธุ์ นอกจากนี้เชื้อนี้ยังสามารถก่อให้เกิดโรคที่สำคัญคือ การติดเชื้อที่เยื่อหุ้มสมอง และการติดเชื้อในกระแสเลือด ปัจจุบันได้มีการพัฒนาวัคซีนสำหรับป้องกันการติดเชื้อดังกล่าว โดยแบ่งชนิดของวัคซีนเป็น 2 ชนิด คือ Conjugated Vaccine มี 3 ชนิด ส่วนใหญ่ใช้ในเด็ก มีเพียงชนิด PCV13 ที่ครอบคลุมเชื้อ 13 สายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดโรคส่วนใหญ่ ซึ่งได้รับการรับรองให้ใช้ในผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ส่วนวัคซีนชนิด Polysaccharide Vaccine ที่เรียกว่า PPSV23 ครอบคลุมเชื้อ 23 สายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดโรคส่วนใหญ่ ผลข้างเคียงที่พบได้จากการฉีดวัคซีนที่พบได้บ่อยประมาณ 30 – 50% คือ อาการปวด บวม แดงบริเวณที่ฉีด อาจมีไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อได้ แต่พบน้อยกว่า 1% ส่วนอาการข้างเคียงรุนแรงพบได้น้อยมาก นอกจากนี้วัคซีนเหล่านี้ทำมาจากส่วนประกอบของเชื้อ ไม่ใช่ตัวเชื้อที่ยังมีชีวิต จึงไม่ทำให้เกิดโรคหลังการฉีด ทำได้เพียงกระตุ้นภูมิคุ้มกันโรคเท่านั้น ซึ่งโดยมากจะมีผลหลังฉีด 2 – 3 สัปดาห์

ใครบ้างที่ควรฉีดวัคซีน

    ผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 65 ปี
    ผู้ที่มีอายุ 2 – 65 ปี
        มีภูมิคุ้มกันผิดปกติจากยา เช่น สเตียรอยด์ ยากดภูมิ ยาต้านมะเร็งบางชนิด
        ได้รับการฉายรังสีหรือเป็นจากตัวโรคเอง เช่น โรคไตวาย มะเร็ง ไม่มีม้ามหรือม้ามไม่ทำงาน ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะหรือไขกระดูก ติดเชื้อ HIV ฯลฯ
        มีปัญหาโรคเรื้อรัง ได้แก่ โรคปอด โรคหัวใจ เบาหวาน ตับแข็ง พิษสุราเรื้อรัง สภาวะที่มีการรั่วของน้ำไขสันหลัง ได้รับการปลูกถ่าย Cochlear
    ผู้ที่มีอายุ 19 – 64 ปี ที่สูบบุหรี่หรือเป็นโรคหืด

โดยการฉีดจะฉีดเข้ากล้ามเนื้อ 1 ครั้ง และในบางรายอาจพิจารณาฉีดซ้ำหลังครั้งแรก 5 ปี เช่น ในรายที่ภูมิต้านทานหลังฉีดลดลงง่าย เช่น ผู้ป่วยมะเร็ง ติดเชื้อ HIV ไม่มีม้ามหรือม้ามไม่ทำงาน ใช้ยากดภูมิ ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ หรือหากการฉีดครั้งแรกที่ก่อนอายุ 65 ปี และได้รับการฉีดมานานกว่า 5 ปีแล้วก็พิจารณาฉีดกระตุ้น 1 ครั้ง หลังจากครั้งที่ 2 ไม่มีความจำเป็นต้องฉีดซ้ำอีกไม่ว่าจะผ่านไปนานเท่าใด


วัคซีนนอกจากจะช่วยป้องกันโรคปอดอักเสบแล้วยังช่วยลดความรุนแรงของโรค หากพบการติดเชื้อขึ้นในภายหลัง
ดูแลตัวเองอย่างไรไม่ให้เป็นโรคปอดอักเสบ

    พักผ่อนให้เพียงพอ
    หลีกเลี่ยงที่จะอยู่ใกล้ชิดหรือสัมผัสกับผู้ป่วยเป็นไข้หวัดหรือเริ่มมีอาการไข้หวัด
    ล้างมือสม่ำเสมอเพื่อป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย
    ดูแลตัวเองให้แข็งแรง ทานอาหารที่มีประโยชน์และออกกำลังเป็นประจำจะช่วยลดความเสี่ยงโรคปอดอักเสบได้