ผู้เขียน หัวข้อ: การรักษาโรคเบาหวาน (Diabetes Mellitus)  (อ่าน 50 ครั้ง)

siritidaphon

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 549
    • ดูรายละเอียด
การรักษาโรคเบาหวาน (Diabetes Mellitus)
« เมื่อ: วันที่ 3 ตุลาคม 2024, 16:06:51 น. »
การรักษาโรคเบาหวาน (Diabetes Mellitus)

โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่รักษาไม่หายขาด แต่เมื่อเกิดโรคขึ้นแล้วสามารถควบคุมอาการของโรคและดำเนินชีวิตได้อย่างปกติ สิ่งสำคัญของการรักษาโรคเบาหวานทุกชนิดคือ ต้องคอยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ความดันโลหิต และคอเลสเตอรอลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยผู้ป่วยควรควบคุมการรับประทานอาหารให้เหมาะสมและออกกำลังกายเป็นประจำ

หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสมอาจทำให้อวัยวะและระบบต่าง ๆ ในร่างกายทำงานผิดปกติ ส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจนถึงขั้นเสียชีวิตได้

การรักษาตามประเภทของโรคเบาหวาน มีดังนี้


โรคเบาหวานประเภทที่ 1

เนื่องจากตับอ่อนไม่สามารถสร้างฮอร์โมนอินซูลินได้เพียงพอต่อการนำน้ำตาลเข้าสู่เส้นเลือด ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับฮอร์โมนอินซูลินเข้าไปทดแทนในร่างกายตั้งแต่ในระยะแรก ๆ ไปจนตลอดชีวิตโดยการฉีดอินซูลิน ควบคู่ไปกับการคุมอาหารและออกกำลังกายที่เหมาะสม ซึ่งแพทย์จะพิจารณาตามอาการของผู้ป่วยแต่ละราย

ชนิดของฮอร์โมนอินซูลินซึ่งแบ่งตามการออกฤทธิ์ที่ใช้ในการรักษาโรคเบาหวานในปัจจุบัน มีดังต่อไปนี้

    ประเภทออกฤทธิ์เร็ว (Rapid Acting Insulin) เป็นยาออกฤทธิ์สั้น เริ่มออกฤทธิ์หลังการฉีด 15 นาที ระดับยาเพิ่มขึ้นสูงสุดใน 1 ชั่วโมงและออกฤทธิ์ได้นาน 2–4 ชั่วโมง เช่น อินซูลิน กลูลิซีน (Insulin Glulisine) อินซูลิน ลิสโปร (Insulin Lispro) อินซูลิน แอสพาร์ (Insulin Aspart)
    ประเภทออกฤทธิ์ในช่วงปกติ (Regular or Short-acting Insulin) เริ่มออกฤทธิ์นานขึ้นภายใน 30 นาทีหลังการฉีด ระดับยาเพิ่มขึ้นสูงสุดใน 2–3 ชั่วโมงและออกฤทธิ์ได้นานขึ้น 3–6 ชั่วโมง เช่น เรกูลาร์ อินซูลิน (Regular Insulin)
    ประเภทออกฤทธิ์นานขึ้นในระดับกลาง (Intermediate-acting Insulin) เริ่มออกฤทธิ์ได้ภายใน 2–4 นาทีหลังการฉีด ระดับยาเพิ่มขึ้นสูงสุด 4–12 ชั่วโมงและออกฤทธิ์ได้นานถึง 12–18 ชั่วโมง เช่น เอ็นพีเอช อินซูลิน (NPH)
    ประเภทออกฤทธิ์นาน (Long-acting Insulin) สามารถออกฤทธิ์ในการรักษาได้นานมากกว่า 24 ชั่วโมงขึ้นไป แต่ใช้ระยะเวลาการดูดซึมในร่างกายนานหลายชั่วโมง เช่น อินซูลิน ดีทีเมียร์ (Insulin Detemir) หรืออินซูลิน กลาร์จีน (Insulin Glargine)

โรคเบาหวานประเภทที่ 2

แพทย์มักพิจารณาให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานประเภทที่ 2 ใช้ยาที่มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดโดยการเพิ่มการตอบสนองของฮอร์โมนอินซูลินให้ดีขึ้น และเพิ่มการใช้น้ำตาลกลูโคสในร่างกายมากขึ้น

ตัวอย่างยาที่แพทย์แนะนำให้ใช้ เช่น ยาเมทฟอร์มิน (Metformin) ยากลุ่มซัลโฟนิลยูเรีย (Sulfonylureas) ไบกัวไนด์ (Biguanide) ยากลุ่มไธอะโซลิดีนไดโอน (Thiazolidinediones) และยาแอลฟา-กลูโคซิเดส อินฮิบิเตอร์ (Alpha-glucosidase Inhibitor) ในกรณีที่ยาใช้ไม่ได้ผล ผู้ป่วยบางรายอาจต้องฉีดอินซูลิน
โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์

ผู้ป่วยควรเข้ารับการฝากครรภ์และพบแพทย์ตามนัดเป็นประจำ พร้อมทั้งพยายามควบคุมน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในด้านต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับแม่และทารกในครรภ์

ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์จำเป็นต้องควบคุมอาหารที่รับประทานอย่างเข้มงวด เช่น ลดอาหารประเภทแป้งและน้ำตาล เพิ่มการรับประทานโปรตีน ผักและผลไม้ให้มากขึ้น หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสชาติหวานจัดหรือไขมันสูง พร้อมทั้งออกกำลังกายให้เหมาะสมควบคู่กัน ภายใต้คำแนะนำจากแพทย์ หากการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดด้วยการรับประทานอาหารและออกกำลังกายไม่ได้ผลที่ดี แพทย์อาจแนะนำให้ฉีดอินซูลินเพิ่มเติม

นอกจากนี้ ผู้ป่วยโรคเบาหวานอาจเผชิญกับปัญหาที่เท้า เนื่องจากเส้นประสาทที่เท้าเกิดความเสียหายและระบบไหลเวียนโลหิตที่เท้าผิดปกติจนอาจเกิดอาการเท้าบวมหรือเป็นแผล จึงควรดูแลสุขภาพเท้าเพื่อป้องกันอาการร้ายแรง

ผู้ป่วยควรล้างเท้าด้วยน้ำอุ่นเป็นประจำทุกวัน จากนั้นให้เช็ดเบา ๆ จนเท้าแห้ง โดยเฉพาะระหว่างนิ้วเท้าแต่ละนิ้ว ทาโลชั่นเพิ่มความชุ่มชื้นทั่วเท้า ยกเว้นบริเวณร่องระหว่างนิ้วเท้า หมั่นตรวจสอบว่ามีแผลหรืออาการบวมแดงหรือไม่ และไปปรึกษาแพทย์เมื่อพบอาการผิดปกติบริเวณเท้า รวมทั้งอาการเจ็บปวดที่เกิดขึ้นและไม่หายไป

ในกรณีที่ผู้ป่วยเกิดแผลเบาหวานที่เท้า แพทย์อาจให้ใส่อุปกรณ์ป้องกันแผล เช่น รองเท้าสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน เฝือก หรือผ้าพันแผล หากแผลเริ่มรุนแรงขึ้น แพทย์อาจวางแผนการรักษาตามระดับความรุนแรงของแผลที่เป็น หากรักษาแล้วอาการไม่ดีขึ้น แพทย์อาจต้องตัดอวัยวะทิ้งเพื่อป้องกันอาการลุกลามด้วย
การดูแลตนเองในการรับประทานอาหาร

นอกจากการรักษาจากแพทย์แล้ว การรับประทานอาหารเป็นอีกสิ่งที่ผู้ป่วยเบาหวานต้องให้ความสำคัญ เพราะความรุนแรงของโรคขึ้นอยู่กับระดับน้ำตาลในเลือดเป็นหลัก

ผู้ป่วยจึงจำเป็นต้องควบคุมอาหารให้เหมาะสม โดยเฉพาะกลุ่มคาร์โบไฮเดรตอย่างแป้งและน้ำตาล เช่น เลือกอาหารที่น้ำตาลน้อย อาหารจากคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน หรืออาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ (Low GI) ซึ่งจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ หลังการรับประทานอาหาร จึงช่วยลดความเสี่ยงของภาวะน้ำตาลในเลือดสูงฉับพลันที่เป็นอันตรายได้

กรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะน้ำตาลในเลือดตกสามารถรับประทานอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูงในปริมาณ 15–20 กรัมเพื่อบรรเทาอาการในเบื้องต้น เช่น ผลไม้ที่มีรสหวาน ลูกอม เยลลี่ ขนมปังแผ่นหรือขนมปังกรอบ น้ำผลไม้ น้ำหวาน นมวัว หรือเครื่องดื่มเกลือแร่หรือเครื่องดื่ม ION Drink ที่ประกอบไปด้วยแร่ธาตุและน้ำตาลที่ร่างกายมนุษย์สามารถดูดซึมได้อย่างรวดเร็ว 

ผู้ป่วยเบาหวานยังอาจเลือกใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาลในการปรุงอาหาร เพื่อลดปริมาณน้ำตาลที่ได้รับในแต่ละมื้อ ซึ่งจะช่วยให้อาหารแต่ละเมนูดีต่อสุขภาพมากขึ้น

จากงานวิจัยพบว่า สารให้ความหวานแทนน้ำตาลอาจเป็นประโยชน์ต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวาน และยังช่วยให้รับประทานได้หลากหลายมากขึ้น เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคาร์โบไฮเดรตต่ำ จึงอาจช่วยป้องกันภาวะน้ำตาลในเลือดสูงและลดความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดตามมา

ตัวอย่างสารให้ความหวานแทนน้ำตาลที่สามารถใช้ในผู้ป่วยเบาหวาน เช่น

แอสพาร์แทม (Aspartame)
แอสพาร์แทมเป็นสารให้ความหวานสังเคราะห์ (Artificial Sweeteners) มีความหวานกว่าน้ำตาล 180–200 เท่า จึงใช้ในปริมาณที่น้อยกว่าน้ำตาลหลายเท่า ให้พลังงานต่ำ แต่หากปรุงด้วยความร้อนสูงอาจทำให้เกิดรสขม

ไอโซมอลทูโลส (Isomaltulose)
ไอโซมอลทูโลสเป็นสารให้ความหวานที่มีทั้งแบบธรรมชาติและสกัดจากธรรมชาติ สามารถทนความร้อนได้สูง มีรสชาติเหมือนกับน้ำตาล ไม่มีรสขมติดลิ้นหรือรสขมเฝื่อนจึงช่วยให้รสชาติอาหารไม่เปลี่ยน โดยให้พลังงานเทียบเท่าน้ำตาลแต่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ (Low GI)

จากการศึกษาบางส่วนพบว่าไอโซมอลทูโลสอาจช่วยป้องกันระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้นสูงฉับพลันหลังรับประทานที่เป็นสาเหตุของภาวะแทรกซ้อน เนื่องจากถูกดูดซึมได้ช้ากว่าน้ำตาลปกติ รวมทั้งอาจลดระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดและลดความเสี่ยงของโรคแทรกซ้อนอย่างโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมองได้

โดยในปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ไอโซมอลทูโลสที่ผสมกับสารให้ความหวานชนิดอื่นที่ให้ความหวานมากกว่า ทำให้ใช้น้ำตาลในปริมาณที่ลดลง

ซูคราโลส (Sucralose)
สารชนิดนี้ให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลปกติถึง 600 เท่า จึงใช้ในปริมาณน้อยมากหรือนำไปผสมกับสารให้ความหวานชนิดอื่น ซูคราโลสเป็นสารที่ไม่ให้พลังงาน ไม่มีรสขม สามารถใช้กับอาหารได้ทั้งแบบร้อนและเย็น

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยเบาหวานควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้สารให้ความหวานทุกชนิด เพื่อความปลอดภัย เนื่องจากสารให้ความหวานบางชนิดอาจมีข้อจำกัดในการใช้ รวมทั้งควรดูแลตนเองด้วยวิธีอื่นควบคู่ไปด้วย ทั้งการเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และหลากหลาย และออกกำลังกายอย่างเหมาะสม เพื่อบรรเทาอาการของโรคและช่วยให้สุขภาพโดยรวมแข็งแรงขึ้น
การรักษาทางเลือกอื่น ๆ

นอกเหนือจากการรักษาโรคเบาหวานตามการแพทย์แผนปัจจุบัน ยังมีการรักษาตามการแพทย์แผนทางเลือกมาช่วยเสริมในหลายวิธีเพื่อให้ผลการรักษาดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะการใช้สมุนไพรที่สามารถหาได้ง่ายในประเทศไทย

โดยกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ได้กล่าวถึงพืชสมุนไพรบางชนิดว่ามีฤทธิ์ในการลดระดับน้ำตาลในเลือดและยังใช้เป็นวัตถุดิบในการปรุงอาหาร เช่น

ตำลึง
ตำลึงสามารถใช้ประโยชน์ได้หลายส่วนจากต้น อุดมด้วยคุณค่าทางโภชนาการ วิตามินและแร่ธาตุสูง โดยมีสรรพคุณสำคัญสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน ช่วยในเรื่องการลดระดับน้ำตาลในเลือด ส่วนที่นิยมนำมาใช้จะเป็นส่วนใบ ซึ่งใบแก่จะออกฤทธิ์ได้ดีกว่าใบอ่อน ราก และผล อีกทั้งยังช่วยบำรุงสายตา ป้องกันตามัว เนื่องจากการขาดวิตามินเอ

มะระขี้นก
มะระขี้นกช่วยเรื่องการเจริญอาหาร ขับพยาธิ แก้ร้อนในและกระหายน้ำ น้ำคั้นสดมีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อน ๆ และยังมีสรรพคุณในการลดระดับน้ำตาลของผู้ป่วยเบาหวานเช่นเดียวกับผักตำลึง โดยมีการออกฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนอินซูลินที่ยับยั้งการสังเคราะห์น้ำตาลกลูโคส และเพิ่มการใช้กลูโคสที่มากขึ้นในตับ รวมทั้งยังช่วยชะลอการเกิดต้อกระจกอันเป็นภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวาน

ผู้ป่วยสามารถรับประทานมะระขี้นกได้หลายรูปแบบ ทั้งแบบแปรรูปเป็นแคปซูลและผงแห้ง ชงเป็นชาดื่ม หรือคั้นเป็นน้ำ แต่ไม่ควรรับประทานผลสด เพราะอาจก่อให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน

มะแว้งต้น
ผลสุกของมะแว้งต้นจะช่วยในเรื่องแก้ไอ ขับเสมหะ และมีสรรพคุณในการลดน้ำตาลในเลือด สามารถรับประทานได้ทั้งแบบสดหรือแบบลวก แต่ควรระมัดระวังหากมีการรับประทานติดต่อกันเป็นเวลานานมากกว่า 1 เดือน เพราะอาจส่งผลเสียต่อระบบประสาทในร่างกาย

ฟ้าทะลายโจร
ฟ้าทะลายโจรสามารถนำใช้ได้หลายส่วน โดยส่วนรากจะช่วยในเรื่องการเจริญอาหาร บำรุงกำลัง แก้ไข้ ส่วนลำต้นเป็นยาบำรุง แก้อาการท้องร่วง และส่วนใบเป็นส่วนที่นำมาใช้ในการลดระดับน้ำตาลในเลือด แก้ไข้ กระเพาะ ลำไส้อักเสบ

สมุนไพรหลายชนิดมีประโยชน์ต่อร่างกาย และการใช้พืชสมุนไพรก็อาจเป็นทางเลือกเสริมในการช่วยบำบัดโรคเบาหวานให้ดีขึ้นได้ ทว่าผู้ป่วยโรคเบาหวานควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งก่อนรับประทานสมุนไพรชนิดใด ๆ ด้วยตนเองเพื่อความปลอดภัยต่อร่างกาย