"หนังท้องตึง หนังตาก็หย่อน" หรือ "ทำไมกินอาหารอิ่มแล้วง่วง" เคยได้ยินประโยคนี้กันบ้างไหม? เราเชื่อว่าหลายคนไม่ใช่แค่ได้ยิน แต่เคยมีประสบการณ์กับมันมาก่อนด้วย ถ้าเป็นวันหยุดก็โอเค แต่ถ้าเป็นวันทำงานเจ้านายคงเหล่ตามองตาเขียวปั้ดให้เราเสียวหลังวูบๆ ได้ รู้ไหมว่าเรามีชื่อเรียกอาการนนี้ว่า "ฟู้ดโคม่า" หรือ "อาการกินแล้วง่วง"
ฟู้ดโคม่า คืออะไร?
ฟู้ดโคม่า ไม่ใช่เป็นโรค แต่เป็นภาวะทางสรีระวิทยามากกว่า เป็นธรรมดาของคนทั่วไปที่หนังท้องตึง หนังตาก็หย่อนตามไปด้วย อาการนี้เกิดขึ้นได้กับทุกคนแต่ระดับความง่วงอาจไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆร่วมด้วย เช่น คุณภาพการนอนหลับในช่วงกลางคืนของแต่ละคน การจัดสรรเวลาในการทำงาน หากตอนเช้าเราทำงานหนักเกินไป ในช่วงบ่ายก็อาจเกิดอาการอ่อนล้าและง่วงได้ แนะนำว่างานที่ทำในช่วงบ่ายควรเป็นงานที่ต้องมีปฏิสัมพันธ์ เคลื่อนไหวขยับร่างกายก็จะช่วยได้เยอะ
ทำไมเราถึงกินแล้วง่วง?
อาการกินแล้วง่วง หรือฟู้ดโคม่า มีชื่อเรียกทางวิชาการว่า Postprandial Somnolence คือ อาการง่วงซึมหลังมื้อกลางวัน มีอีกชื่อหนึ่งว่า Carb Coma คืออาการโคม่าที่มีสาเหตุมาจากสารคาร์โบไฮเดรต สาเหตุแรกมาจากที่สมองสั่งงานให้ร่างกายใช้พลังงานในการย่อยอาหารมากขึ้น และใช้พลังงานในส่วนอื่นๆ น้อยลง ทุกครั้งที่เราทานอาหารมื้อใหญ่ ระบบประสาท Parasympathetic หรือระบบประสาทที่สร้างสมดุลในร่างกายจะถูกกระตุ้นและสั่งการให้ร่างกายรีบไปย่อยอาหารในกระเพาะของเรา ทำให้เลือดและพลังงานในส่วนต่างๆ ของร่างกายทำงานช้าลง เราจะรู้สึกเหมือนหมดแรง เหนื่อย และอุณหภูมิภายในร่างกายเย็นกว่าปกติ
ส่วนอีกสาเหตุหนึ่งนั้นเกี่ยวข้องกับฮอร์โมนที่ถูกผลิตขึ้นมาหลังทานอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาล เมื่ออาหารตกถึงท้อง ร่างกายจะย่อยคาร์โบไฮเดรตให้กลายเป็นน้ำตาลโมเลกุลเล็กๆ มีชื่อว่า กลูโคสและซูโครส และเมื่อปริมาณน้ำตาลในเลือดขึ้นสูงจะทำร้ายร่างกายเราได้ ร่างกายก็จะหลั่งฮอร์โมนอินซูลิน เพื่อลดระดับน้ำตาลให้อยู่ในสภาพปกติ แต่เมื่ออินซูลินถูกหลั่งออกมาแล้วจะนำสารเซโรโทนิน และเมลาโทนิน ตามออกมาด้วย ทำให้เรามีอาการง่วงจัด
วิธีการป้องกันอาการกินแล้วง่วง
ควรกินอาหารแต่พอดี เพื่อระบบประสาทจะได้ทำงานเป็นปกติ
หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีดัชนีน้ำตาลสูง เช่น ข้าวขัดสี ขนมปังขัดสี อาหารชุปแป้งทอด เส้นพลาสต้า ก๋วยเตี๋ยว รวมถึงขนม ของหวานและเครื่องดื่มที่มีรสหวานเติมน้ำตาลทั้งหลาย
ควรเน้นการทานผักและไขมันชนิดดีทดแทนการสร้างพลังงาน
ควรเคี้ยวช้าๆ และพยายามลดความเร็วในการรับประทานอาหาร เพื่อให้ร่างกายได้รับรู้รสอาหารอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งจะช่วยให้รู้สึกอิ่มเร็วขึ้น ร่างกายก็จะหลั่งฮอร์โมนโคลีซิสโตไคนินออกมาในระดับที่พอดีกับความต้องการใช้งานในกระบวนการย่อย ก็จะทำให้มีอาการง่วงน้อยลง
แม้อาการฟู้ดโคม่าจะไม่ส่งผลกระทบที่ทำให้เกิดอันตรายที่ร้ายแรงต่อสุขภาพ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าอาการฟู้ดโคม่าสร้างความทรมานให้ร่างกายไม่น้อย แทนที่จะได้กินอาหารให้อร่อย กลับต้องมาอึดอัดท้องและหายใจไม่ออก รวมทั้งมีอาการง่วงอีกด้วย ดังนั้นจึงไม่ควรนึกถึงแต่ของอร่อยจนลืมนึกถึงสุขภาพร่างกายของตัวเอง นอกจากนี้ ช่วงทานอาหารเสร็จใหม่ๆ สมองจะไม่ค่อยแล่น ควรงดทำกิจกรรมที่ใช้ความคิดมากๆ แล้วหันมาทำกิจกรรมเบาๆ อย่างอื่นแทน เพื่อลดการทำงานหนักของสมอง ถ้ามีเวลาได้งีบสัก 10 – 15 นาทีก็จะทำให้รู้สึกดีขึ้น หรือถ้าไม่หาย การดื่มกาแฟก็ช่วยได้เหมือนกัน
ทำไมเราถึง "กินแล้วง่วง" พร้อมวิธีแก้ง่วน อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://mmed.com/