เมื่อเวลาและทรัพยากรมีจำกัด บวกกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี จึงต้องอาศัยเทคโนโลยีการศึกษา (EdTech) ที่มาช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่การเรียนการสอน สำหรับเทคโนโลยีการศึกษาที่จะมาเล่าให้ฟังในวันนี้ จะช่วยเปลี่ยนบรรยากาศห้องเรียนแบบธรรมดาสู่สนามแห่งการเรียนรู้ที่มีทั้งความสนุกและยังได้ความรู้อีกด้วย โดยจะเป็นเครื่องมือสำหรับผู้สอน ทั้งในห้องเรียนแบบออนไลน์และแบบผสมผสาน
Kahoot! คืออะไร?
Kahoot! เป็นเทคโนโลยีการศึกษา แพลตฟอร์มการเรียนรู้ดิจิทัลที่ใช้การทดสอบแบบควิซ (Quiz) เพื่อช่วยให้ผู้เรียนเรียนรู้ แบบถามตอบโดยใช้เครื่องมือเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา Kahoot! ถูกออกแบบมาให้มีลักษณะเหมือนกับการเล่นเกม ซึ่งจะเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมให้เกิดการแข่งขันอย่างสนุกสนาน โดยสามารถใช้งานได้ฟรี ทำให้เข้าถึงได้ง่ายทั้งสำหรับครูและนักเรียน
นอกจากนี้ เนื้อหาของแบบทดสอบบน Kahoot! มีการจัดหมวดหมู่ไว้หลายประเภท ทำให้สามารถกำหนดเป้าหมายการสอนให้เหมาะสมกับอายุ หรือเนื้อหาเฉพาะความสามารถได้ง่ายขึ้น ช่วยให้เข้าถึงนักเรียนในหลายระดับอีกด้วย
Kahoot! ยังเป็นเครื่องมือที่เป็นประโยชน์สำหรับชั้นเรียนแบบผสมผสาน ที่ใช้ทั้งการเรียนรู้แบบดิจิทัลและในห้องเรียน โดย Kahoot! นั้น จะทำงานบนอุปกรณ์ส่วนใหญ่ผ่านเว็บเบราว์เซอร์ ซึ่งหมายความว่านักเรียนในชั้นเรียนหรือที่บ้าน สามารถเข้าถึงได้โดยใช้แล็ปท็อป แท็บเล็ต และสมาร์ทโฟน โดยมีเกมมากกว่า 40 ล้านเกมที่สร้างขึ้นแล้ว ซึ่งทุกคนสามารถเข้าถึงได้และสามารถสร้างขึ้นใหม่เองได้ด้วย เพียงแค่ต้องสร้างบัญชีเพื่อเริ่มต้น และสามารถใช้งานได้ทุกที่ที่มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต
Kahoot! ใช้งานอย่างไร?
- การใช้งานเริ่มแรกจะต้องสร้าง หรือเลือกชุดแบบทดสอบที่ต้องการ จากนั้นแชร์รหัส PIN แก่คนอื่น ๆ ที่ต้องการให้เข้ามาทำแบบทดสอบ เมื่อเข้ามาแล้วจะให้กรอกชื่อของผู้เล่น หากผู้เล่นเข้ามาครบแล้ว ก็กดปุ่ม Start เพื่อเริ่มแบบทดสอบ
- โปรแกรมเริ่มทำงานและแสดงคำถามที่หน้าจอผู้สอน ซึ่งมีรายละเอียดของคำถามและคำตอบ ส่วนหน้าของผู้เข้าร่วมเกม หน้าจอจะมีแค่สีและรูปของตัวเลือก ให้ดูภาพของตัวเลือกหรือคำตอบในตัวเลือกจากหน้าจอผู้สอน และเลือกคำตอบตามรูปและสีที่ขึ้นหน้าจอของตัวเอง โดยคนที่กดคำตอบรวดเร็วและถูกต้องจะได้คะแนนเยอะกว่า
- เมื่อตอบคำถามหมดทุกข้อหน้าจอจะแสดงคะแนนผู้ที่ได้คะแนนมากที่สุด 3 อันดับแรกของห้อง ซึ่ง Kahoot! มีการเก็บสถิติแบบทดสอบของผู้เข้าร่วมในรูปแบบรายงานและไฟล์ข้อมูล เพื่อจะนำไปประยุกต์ใช้ในการเก็บคะแนนแบบฝึกหัดในอนาคตได้ด้วย โดยสามารถเลือกรูปแบบที่ต้องการจะจัดเก็บข้อมูลได้
มี Features อะไรบ้าง?
1. โหมด Ghost
โหมด Ghost เป็นคุณสมบัติที่จะช่วยกระตุ้นผู้ทำแบบทดสอบ โดยการแข่งขันกับตัวเอง โดยจะใช้คะแนนก่อนหน้าของตนเองเพื่อพัฒนาความรู้และประสิทธิภาพ ซึ่งสามารถทำแบบทดสอบได้มากกว่าหนึ่งครั้ง เพื่อให้เราจดจำคำถามและคำตอบมากยิ่งขึ้น
2. การวิเคราะห์ (Analysis)
มี Feature ที่จะช่วยในการปรับปรุงความเข้าใจของผู้เรียนแต่ละคน โดยใช้การวิเคราะห์ผลลัพธ์เพื่อดูว่านักเรียนคนใดมีปัญหาอะไร เพื่อให้ผู้สอนสามารถพัฒนาผู้เรียนในด้านนั้นได้
3. การคัดลอก (Copy)
สามารถใช้แบบทดสอบที่สร้างโดยผู้ใช้คนอื่น ๆ ที่มีอยู่อย่างมากมายบนแพลตฟอร์ม และยังสามารถนำมารวมและดัดแปลงให้เหมาะสมกับการเรียนการสอนที่ตนเองต้องการได้อีกด้วย
4. การประเมินนักเรียนก่อน (Pre-assessment)
การใช้แบบทดสอบ Kahoot! เป็นวิธีที่ดีในการประเมินความรู้ของนักเรียนก่อนที่จะเริ่มการสอน เพื่อประเมินว่าเนื้อหาที่เตรียมมา หรือครั้งต่อ ๆ ไปง่ายเกินไปหรือซับซ้อนสำหรับผู้เรียนเกินไปหรือไม่
5. การใช้สื่อต่าง ๆ
หากต้องการตั้งคำถามโดยใช้รูปภาพก็สามารถทำได้ เพราะ Kahoot! มี Feature ที่สามารถเพิ่มรูปภาพได้ หรือสามารถเพิ่มวิดีโอจากใน YouTube ก็ทำได้เช่นกัน โดยให้นักเรียนดูคลิปวิดีโอก่อน และให้ตอบคำถามเมื่อวิดีโอจบลง
เทคนิค-เคล็ดลับต่างๆ ในการใช้งานให้สนุกและเกิดประโยชน์
1. เป็นการประเมินผลก่อนการสอน
การได้ทำแบบทดสอบก่อนเริ่มชั้นเรียน จะช่วยให้ผู้สอนสามารถปรับเนื้อหาการสอนให้เหมาะสมกับผู้เรียนในชั้นเรียน อีกทั้งทำให้ชั้นเรียนของคุณได้รับความสนใจจากผู้เรียนในชั้นเรียนมากขึ้นอีกด้วย
2. สร้าง Active Learning
การนำแบบทดสอบที่รูปแบบเหมือนการเล่นเกมมาใช้ระหว่างการเรียนการสอน จะช่วยสร้าง Active Learning ทำให้ผู้เรียนมีการตื่นตัวและใช้ความคิดกับการตอบคำถาม เพราะทุกคนจะจดจ่อกับความสนุกในการทำแบบทดสอบ
3. ประหยัดเวลาด้วยการเตรียมมาล่วงหน้า
สามารถใช้ชุดคำถามที่มีอยู่แล้วใน Kahoot! เพื่อสร้างแบบทดสอบส่วนตัวได้ โดยไม่ต้องเสียเวลาในการคิดคำถามขึ้นมาใหม่
4. ใช้โหมด Ghost
ใช้โหมด Ghost เพื่อให้นักเรียนทำลายสถิติคะแนนสูงสุดในครั้งก่อน เป็นวิธีที่ดีในการเปรียบเทียบจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดของบทเรียนเพื่อดูการปรับปรุงและพัฒนาตนเอง
5. ให้นักเรียนสร้างแบบทดสอบของตนเอง
ให้ผู้เรียนสร้างแบบทดสอบของตนเอง และแชร์ของตนเองให้แก่เพื่อน ๆ คนอื่นในชั้นเรียนได้ทดลองเล่นกัน นอกจากจะเป็นการช่วยให้ผู้อื่นได้เรียนรู้ และยังทำให้เห็นว่าเรามีความรู้ความสามารถในเรื่องนั้น ๆ เพื่อจะนำมาสร้างเป็นแบบทดสอบให้คนอื่น ๆ ได้
ความรู้จัก Kahoot! เทคโนโลยีการศึกษาแบบเกม อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://techwealth99.com/